Firepump หรือ ปั้มน้ำดับเพลิง (บางท่านเรียกฟายปั้ม หรือ ไฟปั้ม) เป็นอุปกรณ์ต้นกำลังหลักที่สำคัญในระบบดับเพลิงที่ใช้ในการขับเคลื่อนน้ำจากแหล่งน้ำสำรองไปยังตู้ดับเพลิงและระบบ Sprinkler หาก firepump ขาดการดูแลและตรวจสอบอย่างถูกต้อง ก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่า
ระบบจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีในการส่งน้ำไปยังอุปกรณ์ดับเพลิงต่าง ๆ
อีกทั้งตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2552 และกฎกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้สถานประกอบการที่มีการติดตั้งระบบดับเพลิงต้องมีการตรวจสอบและทดสอบอย่างสม่ำเสมอ
บริษัท เอ็นจิเนียริ่ง อินโนเวชั่น ออดิเตอร์ จำกัด ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบระบบ firepump ตามมาตรฐาน NFPA 25 เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในยามที่ต้องการใช้งาน ซึ่งทางบริษัทฯ มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในงานตรวจสอบระบบ firepump โดยในการตรวจสอบระบบปั้มน้ำดับเพลิงมีรายละเอียดการดำเนินการดังนี้
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ :
https://www.nfpa.org
ห้องเครื่อง fire pump ที่ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและที่ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลที่มีระบบอุ่นเครื่องยนต์ต้องมีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 40°F (4°C) กรณีห้องเครื่อง firepump ที่ไม่มีระบบอุ่นเครื่องยนต์ต้องมีอุณหภูมิภายในห้องเครื่องไม่น้อยกว่า 70°F (21°C)
ช่องระบายอากาศต่าง ๆ ต้องเปิดได้ไม่ติดขัด, ไม่มีน้ำท่วมขังบนพื้นห้องปั้มน้ำดับเพลิง และแผงป้องกันชิ้นส่วนเคลื่อนไหวต่าง ๆ ต้องอยู่ในสภาพปกติ
ห้องเครื่องปั้มน้ำดับเพลิงจะต้องมีระบบป้องกันน้ำแข็งตัว(สำหรับประเทศเมืองหนาว) และมีการติดตั้งระบบสปริงเกอร์ ในช่วงฤดูร้อนเครื่องยนต์ดีเซลจำเป็นต้องมีระบบระบายความร้อนเพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากอุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้นมากเครื่องยนต์จะไม่สามารถสร้างกำลัง เพื่อขับเคลื่อน firepump ที่ความเร็วรอบที่ต้องการได้และอาจทำให้ชุดควบคุมเสียหาย โดยทั่วไปจะควบคุมอุณหภูมิห้องไม่ให้เกิน 40 °C (สูงสุดไม่เกิน 50 °C) รวมถึงกรณีที่ห้องเครื่อง firepump ที่อยู่บนชั้นดาดฟ้าหรือห้องเครื่องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
ให้ทำการตรวจสอบช่องระบายอากาศของห้องเครื่องปั้มน้ำดับเพลิงทุกสัปดาห์ ช่องระบายอากาศมีความสำคัญต่อการถ่ายเทอากาศทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้ดีขึ้น และควบคุมอุณหภูมิภายในห้องให้เหมาะสม ในสภาวะอากาศหนาว ช่องอากาศจะต้องมีระบบทำความร้อน รวมถึงระบบท่อขนาดเล็ก และเกจวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำแข็งเกาะ (สำหรับประเทศเมืองหนาว)
การตรวจสอบปั้มน้ำดับเพลิงต้องไม่พบการรั่วซึมบริเวณเสื้อปั้มหรือจุดอื่น ๆ Flexible Joint และจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ต้องอยู่ในสภาพปกติ วาล์วด้านดูด ด้านจ่ายและวาล์วบายพาสต้องอยู่ในตำแหน่งปกติเปิด ระบบท่อต่าง ๆ ต้องไม่พบการรั่วซึม และในขณะ firepump ทำงานน้ำหล่อเพลาที่ packing ต้องมีปริมาณที่เหมาะสม
ขณะที่ firepump ทำงาน ความดันด้านดูดและความดันของระบบต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณน้ำสำรองต้องอยู่ในระดับเต็มถังหรือเต็มบ่อเก็บน้ำ กรณีมีการติดตั้งบ่อดักสิ่งสกปรกทางด้านดูดต้องไม่มีสิ่งกีดขวางท่อดูดและวาล์วใน Line ท่อทดสอบอัตราการไหลต้องอยู่ในตำแหน่งปกติปิด
NFPA 13 มาตรฐานสำหรับการติดตั้งระบบสปริงเกอร์ กำหนดให้วาล์วทุกตัวที่ควบคุมการเปิด-ปิดจ่ายน้ำ จะต้องมีการตรวจสอบดูแล และ Chapter 13 ของ NFPA 25 ระบุให้ตรวจสอบการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการเปิดปิดวาล์วทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง (เช่น ในห้องเครื่องปั้มน้ำดับเพลิง) ควรมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกสัปดาห์
การรั่วของท่อด้านดูดและด้านจ่ายของ firepump ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณหน้าแปลนหรือข้อต่อท่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการรั่วไหลอย่างรุนแรง ผู้ดูแลระบบไม่ควรมองข้ามการรั่วตามปะเก็นต่างๆ ถ้ามีการตรวจสอบขันให้แน่น น้ำก็ไม่สามารถรั่วซึมได้
ตามข้อกำหนด 8.2.2(2)(C) ควรตรวจสอบสภาพปั้มน้ำดับเพลิง และให้มั่นใจว่า Pressure Gauge ด้านดูด ค่าที่อ่านได้ ต้องอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ ในกรณีที่ถังเก็บน้ำมีค่าความดันเป็นบวก (ถังตั้งพื้น) ค่าความดันโดยประมาณจะเท่ากับ ความสูงของน้ำในถัง(ft) คุณด้วย 0.433 PSI
ยกตัวอย่างเช่น น้ำในถังเก็บน้ำวัดจากผิวน้ำถึงท่อจ่ายได้ 20 ft (6.1 m) ค่าของแรงดันด้านดูดจะอยู่ที่ 8.7 PSI (0.6 bar) [0.433 psi/ft x 20 ft = 8.7 psi (0.6 bar)] ถ้าหากแหล่งน้ำมาจากที่อื่น ค่าความดันจะเปลี่ยนแปลงตามระดับความสูงของแหล่งน้ำ
ปั้มน้ำดับเพลิงจะสร้างแรงดันได้ก็ต่อเมื่อปั้มทำงาน ดังนั้นเมื่อปั้มน้ำไม่ทำงาน แรงดันในระบบ (ด้านจ่ายของปั้มน้ำดับเพลิง) จะมีค่าเท่ากับความดันด้านดูด
โดยทั่วไป ลูกลอยที่ใช้วัดระดับที่อยู่ภายนอกถัง เพื่อใช้ตรวจสอบแรงดันด้านดูดของถัง ควรมีการขยับลูกลอยทุกครั้งเมื่อมีการตรวจเช็ค เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรวัด ไม่ติดค้างอยู่กับที่ในตำแหน่งเต็มถัง ในการติดตั้งเกจวัดแรงดัน ควรอ่านค่าที่เป็นหน่วย ฟุตของน้ำ หรือหน่วย PSI ที่ติดตั้งอยู่ในห้องปั๊ม
Chapter 9 ของ NFPA 25 ข้อกำหนดด้านดูดของถัง ในกรณีที่ท่อด้านดูด ดูดจากแท้งน้ำปิด หรือถังเก็บน้ำใต้ดิน ต้องมีวิธีในการตรวจเช็คระดับน้ำ เนื่องจากอาจมีอากาศอยู่ในระบบ เกิดการหดตัวของน้ำ ทำให้ค่าที่ได้จากเกจวัดความดันมีความคลาดเคลื่อน
ข้อแนะนำ : ควรดำเนินการบำรุงรักษาระบบปั้มน้ำดับเพลิงตามช่วงเวลาที่เหมาะสมให้สอดคล้องตามมาตรฐาน NFPA
ตามหัวข้อที่ 4.18.2 ของ NFPA 20 ต้องการให้มีการทดสอบวาล์วควบคุมหลักโดยการทดสอบปิดวาล์ว ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อป้องกันปั้มทำงานโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจจะเกิดการรั่วของน้ำในระบบย่อย หรือการเปิดใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังจากการทดสอบควรปล่อยน้ำในระบบออกให้หมด เพื่อป้องกันน้ำแข็งตัวภายในท่อ บ่อยครั้งที่พบว่าวาล์วเกิดความเสียหายจากการแข็งตัวของน้ำ เนื่องจากระบายน้ำออกมาไม่หมด (สำหรับประเทศเมืองหนาว)
เครื่องยนต์ดีเซลในระบบ Engine Fire Pump เป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่เรามิอาจละเลยที่จะต้องดูแลและตรวจสอบตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเครื่องยนต์มีองค์ประกอบหลายส่วนที่ควรได้รับการตรวจสอบ ได้แก่
ตรวจสอบการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ส่วนของถังเก็บน้ำมัน ตรวจสอบตู้ควบคุม Switch Control Selector ต้องอยู่ในตำแหน่ง Auto ตรวจสอบค่าโวลต์แบตเตอรี่ต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ การประจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ชาร์จเจอร์ทำงานได้เป็นปกติ
ตรวจสอบไฟแจ้งเตือนสภาวะแบตเตอรี่ปกติ สว่างติดอยู่หรือไฟแจ้งเตือนแบตเตอรี่ผิดปกติดับอยู่ ไฟแจ้งเตือนสภาวะผิดปกติต้องอยู่ในสถานะดับ บันทึกชั่วโมงการทำงานของเครื่องยนต์ที่มิเตอร์ ตรวจสอบระดับน้ำมันที่ชุดขับเกียร์เปลี่ยนทิศอยู่ในเกณฑ์ปกติ (สำหรับ Vertical Turbine Firepump)
ถังน้ำมันได้ออกแบบมาเพื่อให้รองรับการจ่ายน้ำมันได้ 8 ชั่วโมง สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องการเป็นไปตามสูตร 1 แกลลอนต่อ 1 แรงม้า (5.07 ลิตรต่อกิโลวัตต์) บวก 10% การขยายตัว และพื้นที่อากาศ
ถ้าหากเครื่องยนต์ไม่ได้ใช้อัตราการสิ้นเปลืองนี้ ก็สามารถใช้อัตราการสิ้นเปลืองและปริมาณการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงตาม Spec ของเครื่องยนต์นั้นได้
เชื้อเพลิงในถังควรใช้ให้หมดภายใน 1 ปี หากน้ำมันเชื้อเพลิงทิ้งไว้นาน ๆ อาจจะปนเปื้อนหรือตกตะกอน ทำให้กรองเชื้อเพลิงอุดตัน เครื่องยนต์ไม่สามารถทำงานได้
พื้นที่ถังน้ำมันเชื้อเพลิง 5% ด้านล่าง จะถูกจำกัดไว้ไม่ให้ถูกใช้งานเพื่อกักเก็บน้ำและสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ดังนั้นควรล้างถังน้ำมันทุก ๆ 1 ปี ตามที่ NFPA 25 ได้กำหนดไว้ และควรสังเกตระดับน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่สูงกว่าหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง
ตรวจสอบระดับน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นเครื่องยนต์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตรวจสอบระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่อยู่ในเกณฑ์ปกติและขั้วแบตเตอรี่ไม่พบคราบตะกรันหรือการกัดกร่อน ตรวจสอบระดับแรงไฟแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 9 โวลต์เมื่อใช้แบตเตอรี่ชนิด 12 โวลต์และไม่น้อยกว่า 18 โวลต์เมื่อใช้แบตเตอรี่ชนิด 24 โวลต์
อุปกรณ์อุ่นน้ำมันหล่อลื่นอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน(กรณีมีการติดตั้ง) ตรวจสอบน้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่พบน้ำปะปนอยู่ ตรวจสอบการระบายไอเสียต้องไม่พบการรั่วของท่อไอเสียและสภาพอุปกรณ์ระบายน้ำทิ้งอยู่ในสภาพปกติ (กรณีมีการติดตั้ง)
เกจวัดแรงดันที่ติดตั้งในส่วนน้ำที่ผ่านอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนของเครื่องยนต์ดีเซล เพื่อใช้ตรวจสอบการไหลและแรงดันของน้ำเพื่อแลกเปลี่ยนความร้อน ซึ่งแรงดันน้ำที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 30- 60 PSI (2.1- 4.1 bar) ดังนั้นน้ำหล่อเย็นที่ออกจากด้านจ่ายของ firepump ควรมีแรงดันที่สูงกว่า 125 PSI (8.6 bar)
ถ้าหากอุปกรณ์ควบคุมแรงดันทำงานผิดพลาด อาจทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนได้ ระบบ firepump รุ่นเก่าจะมีอุปกรณ์ป้องกันแรงดันติดตั้งเพียง 1 ชุด ในเส้นท่อหลัก ในกรณีฉุกเฉินที่น้ำหล่อเย็นผ่านท่อ by-pass จะต้องควบคุมแรงดันด้วยตัวเองโดยการปรับวาล์ว และตรวจสอบแรงดันที่เกจวัดให้เหมาะสม
ระดับน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ ปกติควรเติมให้อยู่ในตำแหน่งแหวนใต้ฝาของเซลล์ ในกรณีที่ระดับน้ำแบตเตอรี่ต่ำจะเกิดก๊าซไฮโดรเจนสะสมอยู่ในเซลล์ อาจทำให้เกิดการระเบิดเมื่อมีประกายไฟ ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสมเมื่อมีการเติมน้ำกลั่นหรือเปลี่ยนแบตเตอรี่
ปั้มน้ำดับเพลิงที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ตามข้อกำหนดของ NFPA 20 จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ 2 ชุด ตลอดเวลาของการสตาร์ท
ตู้ควบคุม firepump จะสั่งสลับการทำงานจากแบตเตอรี่ชุดแรกไปยังแบตอร์รี่ชุดที่ 2 ทุก 15 วินาที และพยายามจนกว่าเครื่องยนต์จะติด หรือใช้เวลาตลอด 3 นาที โดยจะพยายามสตาร์ท 6 ครั้งต่อแบตเตอรี่ 1 ชุด และแบตเตอรี่ควรจะต้องมีการชาร์จให้เต็มอยู่ตลอดเวลา
Firepump ที่ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมีการใช้งานในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยมาตรฐาน NFPA 25 กำหนดให้มีการตรวจเช็คและบันทึกสภาพโดยทั่วไปของอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งอาจพบปัญหาต่าง ๆ เช่น มีหนูเข้าไปทำรัง, พัดลมระบายอากาศอุดตัน, อุปกรณ์แตกเสียหาย, ไม่ได้ล็อคประตูตู้ควบคุม, และตรวจสอบป้ายต่าง ๆ ว่าถูกต้องหรือไม่
ถ้าห้อง firepump มีอุปกรณ์ทำความร้อน ควรตรวจเช็คเทอร์โมสตัทว่าสามารถทำงานได้ในสภาพอากาศหนาวเย็น และควรตั้งอุณหภูมิไว้ที่อุณหภูมิห้องปกติ(มาตรฐานสำหรับการตรวจสอบระบบ firepump ที่ติดตั้งในพื้นที่อากาศหนาว) ควรตรวจสอบอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของระบบระบายอากาศว่าใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่
ขนาดบ่อเก็บน้ำส่วนใหญ่มักออกแบบตามหลักกลศาสตร์ของไหล ซึ่งต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ตามข้อกำหนด 8.2.2(2)(F) ของ NFPA 25 โดยมีรายละเอียดในการตรวจสอบดังนี้
- อุปกรณ์สำหรับแยกขยะ
- ตะแกรงทั้งสองด้าน
- ตะแกรงดักขยะด้านดูดของปั้มน้ำที่จุ่มใต้น้ำ
เศษขยะขนาดเล็กอาจส่งผลต่อการทำงานของ firepump ซึ่งอาจจะทำให้ใบพัดของปั้มน้ำเสียหาย หรือเกิดการอุดตันที่ปั้มน้ำและระบบท่อได้
ตู้ควบคุม (firepump controller) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการควบคุมการทำงานของปั้มน้ำดับเพลิง และเป็นอุปกรณ์ที่ควรได้รับการตรวจสอบและทดสอบการทำงานอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมาตรฐาน NFPA 25 ได้กำหนดให้ firepump ต้องสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งตู้ควบคุมเป็นอุปกรณ์ที่สั่งการให้ปั้มน้ำทำงานได้ตามสภาวะตามที่ได้ออกแบบไว้
Jockey Pump เป็นปั้มน้ำที่ทำหน้าที่ รักษาความดันของระบบ ซึ่งภายในระบบท่อดับเพลิงอาจเกิดการรั่วซึมภายในเส้นท่อหรือที่จุดเชื่อมต่อต่าง ๆ Jockey Pump ยังทำหน้าที่ทดแทน Main firepump ไม่ให้ทำงานโดยไม่จำเป็นและต้องสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติผ่านการตั้งค่า Cut-in และ Cut-Off ที่ Pressure Switch
Jockey Pump Controller ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของ Jockey Pump ให้ทำงานหรือหยุดทำงานตามที่ได้ออกแบบไว้ผ่านอุปกรณ์ Pressure Switch ซึ่งโดยทั่วไปการตั้งค่า Cut-Off ของ Jockey Pump จะกำหนดไม่น้อยกว่าความดันของระบบ (System Pressure)
ข้อแนะนำ : ควรดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพ ปั้มน้ำดับเพลิงหรือ Fire Pump Performance Test อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งตามข้อกำหนดของ NFPA 25
ภายหลังที่ได้ตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ในระบบ firepump เรียบร้อยแล้ว ลำดับถัดไปเป็นการเดินเครื่องทดสอบการทำงาน (ครอบคลุม firepump ชนิด Engine และ Electric ) โดยมีรายละเอียดการทดสอบการทำงานดังนี้
การตรวจสอบ firepump เป็นแนวปฏิบัติที่ผู้ดูแลอาคารควรดำเนินการอย่างสม่ำเสมอและควรดำเนินการให้สอดคล้องตามมาตรฐาน NFPA 25 กล่าวคือ อุปกรณ์ในระบบปั้มน้ำดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และพร้อมใช้งานได้ การทำงานของปั้มน้ำดับเพลิงและปั้มน้ำรักษาแรงดันต้องสามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งความถี่และรายละเอียดในการตรวจสอบควรดำเนินการให้สอดคล้องตามมาตรฐาน NFPA 25